การทำหมันเพศผู้ (Castration)



ภาพรวม
                การทำหมันสัตว์เพศ (Neuter) ผู้โดยทั่วไป ทำเพื่อควบคุมประชากร หรือลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ สามารถทำได้สองแบบ คือแบบฉีดยา (ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากอาจไม่ได้ผล และมีผลข้างเคียงรุนแรง) และแบบผ่าตัดนำอัณฑะออก (Gonadectomy) ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายกว่า ส่วนบางกรณีอาจเพื่อร่วมการรักษาหรือป้องกันโรคบางชนิด เช่น
                - ภาวะทองแดง (Cryptorchidism)
                - อัณฑะฝ่อหรือไม่เจริญ (Testicular hypoplasia)
                - อัณฑะหรือท่ออสุจิอักเสบ (Orchitis/Epididymitis)
                - เกิดบาดแผลรุนแรงที่อัณฑะ (Severe testicular trauma)
                - เนื้องอกของอัณฑะ (Testicular neoplasia)
                - อัณฑะบิด (Testicular torsion)
                - ภาวะไส้เลื่อน (Perineal hernia)
                - นิ่วในท่อปัสสาวะ (Urethral calculi)
                - โรคของต่อมลูกหมาก (Prostatic dieases)
                - เนื้องอกข้างก้น (Perianal adenoma)

ขั้นตอนการทำ
                การผ่าตัดทำหมันสุนัขเพศผู้โดยทั่วไป มี 2 เทคนิค คือ แบบ open และ closed technique สามารถเลือกใช้ได้ทั้งคู่ขึ้นกับสัตวแพทย์ผู้ผ่าตัด แต่หากเส้น spermatic cord ภายในมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซ.ม. ควรใช้ open technique เนื่องจากสามารถผูกได้แน่นหนากว่า โดยจะกรีดเปิดแผลอยู่บริเวณ แนวกลางตัว เหนือถุงอัณฑะ แต่ในกรณีที่สุนัขอายุน้อย อาจใช้การเปิดผ่าที่อัณฑะเนื่องจากอัณฑะยังเล็กและมักลื่นหลุดเข้าไปที่บริเวณขาหนีบ
                ในแมวมักกรีดเปิดทีบริเวณอัณฑะ โดยกรีดเป็นแผลแนวตั้ง 2 รอย ตามอัณฑะแต่ละฝั่ง หรือ กรีดตรงกลางระหว่างอัณฑะแผลเดียว และไม่เย็บปิดแผล
                นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดทำหมันแบบไม่ผ่าเอาอัณฑะออก คือการตัดท่อนำอสุจิ (Vasectomy) โดยการเปิดผ่านหน้าท้องช่วงท้าย แต่การทำหมันแบบนี้จะไม่ลดพฤติกรรมอันไม่ถึงประสงค์ และไม่ลดโอกาสเกิดโรคที่อาจเกิดจากฮอร์โมนเพศ
                การทำหมันในกรณีเป็นทองแดง หากพบอัณฑะอยู่นอกช่องท้อง แต่ไม่ลงถุงหุ้มอัณฑะ สามารถใช้วิธีการผ่าตัดเหมือนปกติได้ หรือกรีดเปิดผ่าจากผิวหนังเหนืออัณฑะข้างนั้นโดยตรง แต่ถ้าหากไม่พบอัณฑะเลย อาจหมายถึงอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง การผ่าตัดจะเป็นการกรีดเปิดผ่าผ่านหน้าท้อง โดยอัณฑะข้างที่เป็นทองแดงมักจะมีขนาดเล็กกว่าข้างปกติ
               

การดูแลหลังผ่าตัด
                - การกักบริเวณ ไม่ให้วิ่ง กระโดด หรือ เล่นอย่างหนักหน่วง เป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
                - ป้อนยาที่สัตวแพทย์จ่ายให้
                - ใส่อุปกรณ์ป้องกันการเลียแผลไว้เสมอ เช่น เสื้อกันเลีย ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar)
                - ประคบเย็นที่บริเวณแผลหลังผ่าตัด (กรณีแผลบวม มีรอยช้ำ)
                - ในแมวควรเปลี่ยนทรายแมวเป็นแบบกระดาษอัดหรือฉีก 3-7 วันหลังผ่าตัด

การพยากรณ์โรค

                ในรายที่สุขภาพดีการพยากรณ์โรคถือว่าดีมาก แต่ในรายที่ผ่าตัดทำหมันเพื่อรักษาโรคอื่น การพยากรณ์โรคจะขึ้นกับโรคนั้นๆ
                สำหรับสุนัขที่ทำการผ่าตัดทำหมัน จะไม่ปล่อยอสุจิออกมา เมื่อผ่านไปอย่างน้อย 5 วันหลังผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่ในกรณีตัดเพียงท่อนำอสุจิ อาจพบอสุจิได้ถึง 21 วันหลังผ่าตัด แต่ปริมาณอสุจิจะค่อยๆลดลงไปตามเวลา
                ในแมวยังไม่มีการศึกษา ระยะเวลาที่อสุจิคงเหลือในกรณีผ่าตัดเอาอัณฑะออก แต่ในการผ่าตัดเพียงท่อนำอสุจิอาจพบอสุจิได้ถึง 49 วันหลังผ่า
                โดยทั่วไปจะ แนะนำให้แยกสัตว์เพศผู้ที่พึ่งทำหมันออกจากสัตว์เพศเมียที่เป็นสัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน เนื่องจากหากมีการผสมพันธุ์หลังทำหมันก่อนระยะเวลาดังกล่างยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้
 

เรียบเรียงโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์สวนสยาม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้